ปจ.2 คืออะไร ตรวจ ปจ.2 มีขั้นตอนอย่างไร

ตรวจ ปจ.2

ประเทศไทยของเรามีการนำเอาเครื่องจักรอย่างเครนหรือปั้นจั่นเข้ามาเป็นเครื่องทุ่นแรงใช้ตามสถานที่ต่างๆ หรือใช้ในโรงงานอุตสาหกรรม เครน มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ปั้นจั่น ซึ่งคุณมักจะเคยได้ยินเกี่ยวกับ ปจ.1 และ ปจ.2 แท้จริงแล้วคือชนิดของปั้นจั่นนั่นเอง ปจ.1 หมายถึง ปั้นจั่นชนิดอยู่กับที่ ส่วนปจ.2 หมายถึง ปั้นจั่นชนิดเคลื่อนที่ แต่วันนี้เราจะขอพูดถึงเฉพาะ ปจ.2 และการตรวจ ปจ.2 มีขั้นตอนอย่างไร จริงๆ แล้วการตรวจ ปจ.2 หรือปจ.1 มีขั้นตอนไม่ต่างกันมากนัก

ปจ.2 ปั้นจั่นชนิดเคลื่อนที่ ถูกใช้อย่างแพร่หลายเพราะอำนวยความสะดวกสบาย เป็นเครื่องทุ่นแรงที่สามารถเคลื่อนที่ไปใช้งานตามสถานที่ต่างๆ ตามความเหมาะสมได้ ปั้นจั่นหรือเครนชนิดนี้จะติดอยู่บนพาหนะที่สามารถขับเคลื่อนได้ เช่น โมบายเครน รถเฮี๊ยบ เรือเครน ฯลฯ

การตรวจ ปจ.2 ถือว่ามีความสำคัญมาก กฎหมายได้ระบุความถี่ในการตรวจปั้นจั่น ดังนี้

1.ปั้นจั่นที่ใช้ในการก่อสร้าง

พิกัดความปลอดภัยที่ผู้ผลิตกำหนด ไม่เกิน 3 ตัน ต้องทดสอบทุก 6 เดือน แต่ถ้ามากกว่า 3 ตัน ให้ทดสอบทุก 3 เดือน

2.ปั้นจั่นที่ใช้ในงานอื่นๆ

พิกัดความปลอดภัยที่ผู้ผลิตกำหนด 1-3 ตัน ต้องทดสอบทุกปี แต่ถ้ามากกว่า 3 ตันขึ้นไป ไม่เกิน 50 ตัน ต้องทดสอบทุก 6 เดือน หรือถ้ามากกว่า 50 ตันขึ้นไปให้ทดสอบตามวาระทุก 3 เดือน

ในกรณีที่ปั้นจั่น ไม่มีพิกัดยกที่ปลอดภัยตามที่ผู้ผลิตกำหนด ให้วิศวกรเป็นผู้กำหนดพิกัดยกแทน แต่หากปั้นจั่นที่หยุดการใช้งานตั้งแต่ 6 เดือนหรือมีการนำไปซ่อมแซมมีผลต่อความปลอดภัยให้ทดสอบก่อนนำกลับมาใช้งานก่อนเสมอ

ขั้นตอนการตรวจ ปจ.2

  • ตรวจสอบสภาพโครงสร้างหลัก รอยเชื่อมต่างๆ สภาพน็อตและการคลายตัว
  • ตรวจสอบกำลังเครน ระบบต่างๆ เช่น ระบบเชื้อเพลิง ระบบหล่อลื่น ระบบควบคุมไฟฟ้า ระบบมอเตอร์ ฯลฯ
  • ตรวจสอบการเคลื่อนที่ของปั้นจั่น และการทำงานของชุดควบคุมพิกัด
  • ตรวจสอบสัญญาณเสียงแจ้งเตือนต่างๆ รวมถึงสัญญาณไฟด้วย ระบบเสียงต้องได้ยินชัดเจน
  • ตรวจสอบม้วนรอก สลิงเครน ตรวจสอบเส้นผ่าศูนย์กลางสลิงโซ่ ตรวจสอบสภาพการสึกหรอ
  • ทดสอบพิกัดการยก  โดยการใช้น้ำหนักจริง เพื่อทดสอบการยกอย่างปลอดภัย

การตรวจ ปจ.1 หรือตรวจ ปจ.2 มีขั้นตอนการตรวจสอบคล้ายกัน สำหรับการตรวจสอบและการทดสอบนั้น ต้องทำโดยทีมงานผู้เชี่ยวชาญหรือทีมวิศวกรวิชาชีพเท่านั้น อุปกรณ์ที่ใช้ในการตรวจสอบหรือทดสอบต้องมีคุณภาพได้มาตรฐาน ผ่านการรับรองการสอบเทียบจาก มอก.

กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการตรวจ ปจ.1 หรือตรวจ ปจ.2 อ้างอิงตามประกาศของกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการทดสอบส่วนประกอบและอุปกรณ์ของปั้นจั่น พ.ศ. 2554 เพื่อเป็นแนวทางในการดำเนินงานทดสอบ และอย่างที่บอกว่าการทดสอบหรือการตรวจสอบต้องดำเนินการโดยวิศวกรวิชาชีพหรือวิศวกรเครื่องกลเท่านั้น